การสานสร้างความรู้จากสังคม


การสานสร้างความรู้จากสังคม
Alvin Toffler มีแนวคิดว่า โลกกำลังสิ้นสุดยุคอุตสาหกรรมและเข้าสู่สังคมข้อมูลข่าวสารและสังคมแห่งความรู้ โดยได้ลำดับพัฒนาการสังคมมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น ซึ่งแต่ละขั้นก็จะมีเหตุปัจจัยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องมาจากยุคเดิม เหมือนกับวัฎวักรการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เขาจึงได้ใช้คำว่า "คลื่น" เพราะมันหมายถึง ความเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่และมันจะจางหายไปโดยมีระลอกใหม่เกิดมาแทนที่
            คลื่นลูกที่ 1 เกษตรกรรม มีลักษณะคือ จากมนุษย์เร่ร่อน ก็เริ่มลงหลักปักฐาน "สร้างสมความรู้ด้านการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์" เพื่อยังชีพ มีที่ดินเป็น "ฐานการผลิต" ผลิตตามความจำเป็นของชุมชน (เอาไว้ใช้เอง) จึงทำให้เศรษฐกิจมีลักษณะกระจาย ทำของใครของมัน มื่อเวลาผ่านไป การลงหลักปักฐานนี้ทำให้คนสามารถผลิตของยังชีพตอบสนองความต้องการของตนได้มากกว่าแต่ก่อนตอนร่อนเร่ ทำให้มีเวลาเอาไปพัฒนาวัฒนธรรมและมีเวลาในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆได้มากขึ้น จึงเกิดเป็นอารยธรรมใหญ่ๆ ขึ้น เช่น ในอินเดีย จีน โรมัน และยุโรป แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในด้านการผลิตประดิษฐกรรมที่มีความซับซ้อนและยังขาดความรู้ด้านวิทยาศาสตร์
            คลื่นลูกที่ 2 อุตสาหกรรม เกิดจากจุดเริ่มต้นที่ว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษใน ค.ศ. 1760โดยมีการนำเอาเครื่องจักรไอน้ำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องจักรทอผ้าและใช้ถ่านหินเป็นพลังงานทางการผลิต การที่ประเทศอังกฤษประสบความสำเร็จในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่อังกฤษอย่างมหาศาล
หลังจากนั้น ก็ได้มีการนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตอย่างกว้างขวาง ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนจากการผลิตเพื่อยังชีพมาเป็นการผลิตเพื่อการค้าและการส่งออกมากขึ้น ลัทธิจักรวรรดินิยมได้แพร่หลายเพราะประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเหล่านี้ต้องการวัตถุดิบและตลาดรองรับสินค้า เพื่อให้อุตสาหกรรมภายในประเทศตัวเองขยายตัว แรงงานจากภาคเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมโดยไปเป็นกรรมกรเพิ่มมากขึ้น เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น องค์ความรู้ใหม่ๆได้เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การจัดจำหน่าย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การค้า การขนส่ง และยังมีองค์ความรู้ในด้านสังคมศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย เช่น รัฐศาสตร์ พาณิชย์ศาสตร์ รวมไปถึงการพัฒนาแนวคิดของระบบทุนนิยมและสังคมนิยมที่มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอีกด้วย
            คลื่นลูกที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้นคอมพิวเตอร์ขึ้นได้ โดยเครื่องแรกจะมีขนาดใหญ่เท่ากับห้องหนึ่งห้อง ใช้หลอดสุญญากาศ ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิวาเนีย (เอกสารคู่มือการเรียนรู้ครั้งที่ 2 Computer Systems ของ อ.ชุณหพงษ์ หน้า 2)
หลังจากนั้นเป็นต้นมา ทำให้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์พัฒนาขึ้นมากและรวดเร็ว ประกอบกับความพยายามในการทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์เชื่อมต่อกันเพื่อการสื่อสารกัน กลายเป็นระบบเครือข่าย (network system) ทำให้ในยุคนี้เป็นยุคที่การผลิตและการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ มีความรวดเร็วมาก และเชื่อมต่อถึงกันได้ทั่วโลก
เทคโนโลยีการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตหรือโทรคมนาคมทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลต่างๆกันบนระบบเครือข่าย ซึ่งนับวันเทคโนโลยีเหล่านี้ ราคาถูกลงเรื่อยๆ ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น ติดต่อสื่อสารกันได้มากขึ้น เกิดการหลั่งไหล เปลี่ยนผ่านข้อมูลอยู่เกือบตลอดเวลา
ดังนั้น องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในยุคนี้คือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและใช้ประโยชน์องค์ความรู้ในแขนงอื่นๆ และองค์ความรู้ที่สะสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากยุคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เทคโนโลยี ซึ่งส่งผลให้เกิดการสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ได้อย่างกว้างขวาง บริษัทเล็กๆที่เงินทุนไม่มาก แต่ถ้าได้ครอบครองเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ สารสนเทศและการสื่อสารที่มีคุณภาพแล้ว ก็สามารถเอาชนะบริษัทยักษ์ใหญ่ได้ไม่ยาก
แนวโน้มของอาชีพก็เปลี่ยนไป จากการผลิตที่ต้องอาศัยแรงงานเป็นหลักในยุคอุตสาหกรรม และอำนาจเป็นของนายทุน มาเป็น knowledge worker และผู้ทำอาชีพด้านบริการ นั่นคือ คนที่ตลาดแรงงานต้องการในสมัยนี้ จะเป็นคนที่มีความรู้ สามารถทำงานกับข้อมูลข่าวสารได้ดี ใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารมาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการทำงานของตนเองได้ ซึ่งเป็นงานที่ใช้สมองมากขึ้น ใช้แรงน้อยลง ตามกฎ 80/20 และปัจจุบันนี้จะเห็นว่า นายทุนไม่ใช่ผู้กุมอำนาจคนเดียวในระบบเศรษฐกิจอีกต่อไป knowledge worker เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะที่สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจต่างๆขององค์กรได้มากขึ้น ทำให้การทำงานเป็นแบบกระจายอำนาจมากขึ้น และเน้นการร่วมมือกันมากกว่าการสั่งการจากด้านบนเพียงอย่างเดียว
            คลื่นลูกที่ 4 ยุคนวัตกรรม ภายใต้ระบบทุนนิยมและระบบการค้าเสรี ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างสูง และความรู้ที่จะนำมาใช้ในการทำงานและการพัฒนาธุรกิจมีอยู่ทั่วไป ซึ่งผู้ที่รู้จักใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้เดิมจะสามารถนำมาต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆได้ และทำให้เกิดการปกป้องนวัตกรรมของตนเองโดยการจดสิทธิบัตรหรือการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือลิขสิทธิ์ เพื่อให้นวัตกรรมที่ตนคิดค้นขึ้นมานั้นได้รับการคุ้มครอง และสินค้าหรือบริการที่จะอยู่ในตลาดได้อย่างยาวนาน ต้องลอกเลียนแบบได้ยาก
            คลื่นลูกที่ 5 ยุคทรัพย์สินทางปัญญา ในยุคนี้ซึ่งต่อเนื่องมาจากยุคที่ 4 จะเป็นยุคที่การพัฒนาจะวัดจาก "ปริมาณทรัพย์สินทางปัญญา" และนอกจากนี้จะต้องมีการสนับสนุนการทำงานของ knowledge worker เพื่อให้องค์กรได้รับประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรมนุษย์แต่ละคน รวมไปถึงต้องมีความพยายามในการจัดการให้องค์ความรู้ที่จำเป็นอยู่กับองค์กรให้ได้
o  มีการจัดระเบียบความรู้ (ทุนทางปัญญา) ต้องมีสมรรถภาพในการจัดเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดหมวดหมู่และค้นคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อการใช้งาน
o  สร้างองค์กรและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้
o  เตรียมปัจจัยให้เอื้อต่อการเรียนรู้
o  เน้นความรู้เกี่ยวกับ ทุนลูกค้า ทุนมนุษย์ และทุนโครงสร้าง เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขันให้กับพนักงาน รวมไปถึงความสามารถในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆในการพัฒนาสินค้าและบริการ
ดังนั้น ในยุคนี้ จึงมีคนกล่าวไว้ว่า "Information & Knowledge is Power" ซึ่งใครจะมีความสามารถและความได้เปรียบมากกว่ากัน จะต้องตัดสินว่า ใครมีความสามารถในการจัดการกับความรู้และข้อมูลข่าวสาร และนำมาใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์ของชีวิตและองค์กรได้มากกว่ากัน
ระบบสารสนเทศกำลังกลายเป็นหัวใจของระบบการผลิต การแลกเปลี่ยน การบริโภค และการบริหารองค์กร
สุดท้ายของบทความนี้ บีมจะสรุปเกี่ยวกับพัฒนาการสังคม 5 ยุคสั้นๆดังนี้
o  คลื่นลูกที่ 1 ระบบเศรษฐกิจเน้นการใช้ประโยชน์จากที่ดิน และสะสมองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม
o  คลื่นลูกที่ 2 ระบบเศรษฐกิจเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและเครื่องยนต์กลไล และสะสมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การค้าขาย สังคมศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ การทหาร
o  คลื่นลูกที่ 3 ระบบเศรษฐกิจเน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ระบบข้อมูลและการสื่อสาร และมีการสะสมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการสื่อสาร และระบบเครือข่าย
o  คลื่นลูกที่ 4 ระบบเศรษฐกิจเน้นการใช้ประโยชน์จากการสังเคราะห์ความรู้เดิมให้เกิดเป็นความรู้ใหม่ หรือเรียกว่า "นวัตกรรม" เป็นยุคที่ใช้ประโยชน์จากความรู้เดิมนำมาทำสิ่งใหม่ที่มีประโยชน์และมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการมากขึ้น
o  คลื่นลูกที่ 5 ระบบเศรษฐกิจเน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกิดขึ้นมาจากการจดทะเบียนปกป้องนวัตกรรมต่างๆที่ได้จากยุคที่ 4 ซึ่งในยุคนี้ ใครมีทรัพย์สินทางปัญญามากกว่ากัน และสามารถจัดระบบและนำมาใช้ประโยชน์ ใช้แก้ไขปัญหาสังคม เศรษฐกิจหรือปัญหาต่างๆได้มากกว่า ก็ย่อมจะมีการพัฒนามากกว่า
ดังนั้น นับแต่นี้เป็นต้นไป สารสนเทศและความรู้ จะกลายเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญที่สุด


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม