การวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียน


การวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียน
          การวัด (Measurement)
          ความหมาย
          ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ  การวัด  และ  การวัดผล  บางคนเข้าใจว่า 2 คำนี้เป็นคำเดียวกัน  มีความหมายเหมือนกัน เพราะมาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกันคือ measurement  แต่ในภาษาไทย  2 คำนี้มีความหมายแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้
          การวัด เป็นกระบวนการกำหนดตัวเลขหรือสัญลักษณ์แทนปริมาณหรือคุณภาพของคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งที่ต้องการวัด 
          การวัดผล  เป็นกระบวนการกำหนดตัวเลขหรือสัญลักษณ์แทนปริมาณหรือคุณภาพของคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งที่ต้องการวัด  โดยสิ่งที่ต้องการวัดนั้นเป็นผลมาจากการกระทำหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน  เช่น  การวัดผลการเรียนรู้  สิ่งที่วัดคือ ผลที่เกิดจากการเรียนรู้ของผู้เรียน 

          องค์ประกอบของการวัด
          องค์ประกอบของการวัดประกอบด้วย  สิ่งที่ต้องการวัด เครื่องมือวัด  และผลของการวัด  ที่สำคัญที่สุด คือ เครื่องมือวัด เครื่องมือที่มีคุณภาพจะให้ผลการวัดที่เที่ยงตรงและแม่นยำ 

          ประเภทของสิ่งที่ต้องการวัด
          สิ่งที่ต้องการวัดแบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 
          1. สิ่งที่เป็นรูปธรรม คือ คน สัตว์ หรือสิ่งของ ที่จับต้องได้  มีรูปทรง  การวัดสิ่งที่เป็นรูปธรรมนี้เป็นการวัดทางกายภาพ (physical)  คุณลักษณะที่จะวัดสามารถกำหนดได้ชัดเจน เช่น น้ำหนัก ความสูง ความยาว เครื่องมือวัดคุณลักษณะเหล่านี้ให้ผลการวัดที่เที่ยงตรงและแม่นยำสูง วัดได้ครบถ้วน สมบูรณ์ และเอียดถี่ถ้วน ตัวอย่างเครื่องมือวัด เช่น  เครื่องชั่ง ไม้บรรทัด สายวัด เป็นต้น การวัดลักษณะนี้เป็นการวัดทางตรง  ตัวเลขที่ได้จากการวัดแทนปริมาณคุณลักษณะที่ต้องการวัดทั้งหมด  เช่น หนัก 10 กิโลกรัม  สูง 172 เซนติเมตร  ยาว  3.5 เมตร  ตัวเลข 10  172  และ 3.5  แทนน้ำหนัก ความสูง และความยาวทั้งหมด  เช่น 10 แทนน้ำหนักทั้งหมด  ถ้าไม่มีคุณลักษณะดังกล่าว เช่นหนัก 0 หน่วย  ก็คือ ไม่มีนำหนักเลย  ตัวเลข 0 นี้เป็นศูนย์แท้ (absolute zero) 
          2. สิ่งที่เป็นนามธรรม  คือสิ่งที่ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ เป็นการวัดพฤติกรรมและสังคมศาสตร์ (behavioral and social science) คุณลักษณะที่จะวัดกำหนดได้ไม่ชัดเจน  เช่น   การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (achievement) วัดเจตคติ (attitude)วัดความถนัด (aptitude)  วัดบุคลิกภาพ (personality)  เป็นต้น  เครื่องมือวัดด้านนี้มีคุณภาพด้อยกว่าเครื่องมือวัดสิ่งที่เป็นรูปธรรม  คือ ให้ผลการวัดที่เที่ยงตรงและแม่นยำน้อยกว่า  ลักษณะการวัด เป็นการวัดทางอ้อม  วัดได้ไม่สมบูรณ์  ไม่ละเอียดถี่ถ้วน และมีความผิดพลาด  ตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่ได้จากการวัดเป็นค่าโดยประมาณ   ไม่สามารถแทนปริมาณหรือคุณภาพของคุณลักษณะที่ต้องการวัดได้ทั้งหมด  เช่น  การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนคนหนึ่ง ได้ 15 คะแนน ตัวเลข 15 ไม่ได้แทนปริมาณความรู้ความสามารถทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนคนนี้ทั้งหมด  แม้แต่นักเรียนที่สอบได้คะแนนเต็ม ไม่ได้หมายความว่านักเรียนผู้นั้นมีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าวสมบูรณ์เต็มตามกรอบของหลักสูตร ในทางตรงกันข้ามนักเรียนที่ได้ 0 คะแนน  ก็ไม่ได้หมายความว่านักเรียนผู้นั้นไม่มีความรู้ความสามารถในคุณลักษณะดังกล่าว  เพียงแต่ตอบคำถามผิดหรือเครื่องมือวัดไม่ตรงกับความรู้ความสามารถที่นักเรียนคนนั้นมี เลข 0 นี้ เป็นศูนย์เทียม

          ลักษณะการวัดทางการศึกษา
การวัดทางการศึกษาเป็นการวัดคุณลักษณะที่เป็นนามธรรม  มีลักษณะการวัด ดังนี้
          1. เป็นการวัดทางอ้อม  คือ  ไม่สามารถวัดคุณลักษณะที่ต้องการวัดได้โดยตรง  ต้องนิยามคุณลักษณะดังกล่าวไห้เป็นพฤติกรรมที่วัดได้ก่อน  จากนั้นจึงวัดตามพฤติกรรมที่นิยาม เช่น การวัดความรับผิดชอบของนักเรียน ต้องให้นิยามคุณลักษณะความรับผิดชอบเป็นพฤติกรรมที่วัดได้  โดยอาจจะแยกเป็นพฤติกรรมย่อย เช่น ไม่มาโรงเรียนสาย  ทำงานทุกงานที่ได้รับมอบหมาย  นำวัสดุอุปกรณ์การเรียนที่ครูสั่งมาครบทุกครั้ง  ส่งงานหรือการบ้านตามเวลาที่กำหนด  เป็นต้น 
          2. วัดได้ไม่สมบูรณ์  การวัดทางการศึกษาไม่สามารถทำการวัดคุณลักษณะที่ต้องการวัดได้ครบถ้วนสมบูรณ์  วัดได้เพียงบางส่วน  หรือวัดได้เฉพาะตัวแทนของคุณลักษณะทั้งหมด  เช่นการวัดความสามารถการอ่านคำของนักเรียน  ผู้วัดไม่สามารถนำคำทุกคำมาทำการทดสอบนักเรียน  ทำได้เพียงนำคำส่วนหนึ่งที่คิดว่าเป็นตัวแทนของคำทั้งหมดมาทำการวัด  เป็นต้น
          3. มีความผิดพลาด  สืบเนื่องจากการที่ไม่สามารถวัดได้โดยตรง  และการนิยามสิ่งที่ต้องการวัดก็ไม่สามารถนิยามให้เป็นพฤติกรรมที่วัดได้ได้ทั้งหมด  จึงวัดได้ไม่สมบูรณ์  ตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่ได้จากการวัดเป็นการประมาณคุณลักษณะที่ต้องการวัด ซึ่งในความเป็นจริงคุณลักษณะดังกล่าวอาจจะมีมากหรือน้อยกว่า  ผลการวัดจึงมีความผิดพลาดของการวัด  หรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง  การวัดที่ดีจะต้องให้เกิดการผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
          4. อยู่ในรูปความสัมพันธ์  การที่จะรู้ความหมายของตัวเลขที่วัดได้  ต้องนำตัวเลขดังกล่าวไปเทียบกับเกณฑ์หรือเทียบกับคนอื่น  เช่น นำคะแนนที่นักเรียนสอบได้เทียบกับคะแนนเฉลี่ยของกลุ่ม  เทียบกับคะแนนของเพื่อนที่สอบพร้อมกัน  หรือเทียบกับคะแนนของนักเรียนเองกับการสอบครั้งก่อนๆ  ถ้าคะแนนสูงกว่าเพื่อน แสดงว่ามีความสามารถในเรื่องที่วัดมากกว่าเพื่อนคนนั้น หรือถ้ามีคะแนนสูงกว่าคะแนนที่ตนเองเคยสอบผ่านมา  แสดงว่ามีพัฒนาการขึ้น  เป็นต้น

             หลักการวัดทางการศึกษา
การวัดทางการศึกษา มีหลักการเบื้องต้น ดังนี้
             1. นิยามสิ่งที่ต้องการวัดให้ชัดเจน  ดังที่กล่าวไว้ในลักษณะการวัดว่า การวัดทางการศึกษาเป็นการวัดทางอ้อม  การที่จะวัดให้มีคุณภาพต้องนิยามคุณลักษณะที่ต้องการวัดให้ตรงและชัดเจน  การนิยามนี้ มีความสำคัญมาก  ถ้านิยามไม่ตรงหรือไม่ถูกต้อง  เครื่องมือวัดที่สร้างตามนิยามก็ไม่มีคุณภาพ  ผลการวัดก็ผิดพลาด  คือ วัดได้ไม่ตรงกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด 
             2. ใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ  หัวใจสำคัญของการวัด คือ สามารถวัดคุณลักษณะได้ตรงตามกับที่ต้องการวัดและวัดได้แม่นยำ  โดยใช้เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพ  คุณภาพของเครื่องมือมีหลายประการ  ที่สำคัญคือ มีความตรง (validity) คือวัดได้ตรงกับคุณลักษณะที่ต้องการวัด และมีความเที่ยง (reliability) คือวัดได้คงที่ คือวัดได้กี่ครั้งก็ให้ผลการวัดที่ไม่เปลี่ยนแปลง
             3.  กำหนดเงื่อนไขของการวัดให้ชัดเจน  คือกำหนดให้แน่นอนว่าจะทำการวัดอะไร  วัดอย่างไร  กำหนดตัวเลขและสัญลักษณ์อย่างไร
              ขั้นตอนการวัดทางการศึกษา
                  1. ระบุจุดประสงค์และขอบเขตของการวัด  ว่าวัดอะไร วัดใคร
                  2. นิยามคุณลักษณะที่ต้องการวัดให้เป็นพฤติกรรมที่วัดได้
                  3. กำหนดวิธีการวัดและเครื่องมือวัด
                  4.  จัดหาหรือสร้างเครื่องมือวัด  กรณีสร้างเครื่องมือใหม่ดำเนินการตามขั้นตอน  ดังนี้
                       4.1 สร้างข้อคำถาม เงื่อนไข  สถานการณ์  หรือสิ่งเร้า  ที่จะกระตุ้นให้ผู้ถูกวัดแสดงพฤติกรรมตอบสนองออกมาเพื่อทำการวัด  โดยข้อคำถามเงื่อนไข  สถานการณ์  หรือสิ่งเร้าดังกล่าวต้องตรงและครอบคลุมคุณลักษณะที่นิยามไว้
                       4.2 พิจารณาข้อคำถาม เงื่อนไข  สถานการณ์  หรือสิ่งเร้า โดยอาจให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเนื้อหาและทางด้านวัดผลช่วยพิจารณา
                       4.3 ทดลองใช้เครื่องมือ  กับกลุ่มที่เทียบเคียงกับกลุ่มที่ต้องการวัด
                       4.4 หาคุณภาพของเครื่องมือ  มีคุณภาพรายข้อและคุณภาพ เครื่องมือทั้งฉบับ
                       4.5 จัดทำคู่มือวัดและการแปลความหมาย
                       4.6 จัดทำเครื่องมือฉบับสมบูรณ์
                  5.  ดำเนินการวัดตามวิธีการที่กำหนด
                  6. ตรวจสอบและวิเคราะห์ผลการวัด
                  7. แปลความหมายผลการวัดและนำผลการวัดไปใช้


ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม